THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ความหลากชนิดของพรรณไม้และการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของไม้ต้น ในป่าชุมชนบ้านวังกะบาก อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่1*, วรรณิศา อุปนันไชย1, ลิปิการ์ สีห์ตระกูล1 และ กฤษณา เฮงสิ1
1คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก 65000
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: chirdsakt@nu.ac.th
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: บทบาทของป่าชุมชุมในปัจจุบัน นอกจากเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนแล้ว การประเมินค่าการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของต้นไม้ ทำให้ทราบว่าพื้นที่ป่าชุมชน มีศักยภาพมากน้อยเพียงใด อาจเป็นประโยชน์ต่อการนำนโยบายการลดการปล่อยมลพิษจากการตัดไม้ทำลายป่า สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของกรอบงานเรดด์พลัส ที่สนับสนุนการลดการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม เพิ่มการอนุรักษ์และการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และเชื่อมโยงกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อทราบปริมาณมวลชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนของไม้ต้นในป่าชุมชนบ้านวังกะบาก 

วิธีการ: วางแปลงตัวอย่างแบบสุ่ม ขนาด 10 เมตร x 10 เมตร ในป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบ ชนิดป่าละ 20 แปลง รวม 40 แปลง เพื่อเก็บข้อมูลไม้ต้น วิเคราะห์ดัชนีความหลากชนิด ปริมาณมวลชีวภาพเหนือดินและใต้ดินของไม้ต้นแต่ละชนิด ปริมาณการกักเก็บคาร์บอน การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการปลดปล่อยก๊าซออกซิเจน

ผลการศึกษา: พบพรรณไม้ต้นจำนวน 63 ชนิด 54 สกุล 26 วงศ์ ทั้งสองสังคมพืช มีค่าดัชนีความหลากชนิด (H')    ในระดับสูง เท่ากับ 3.17 พืชวงศ์ถั่ว (Fabaceae) พบมากที่สุด 15 ชนิด รองลงมาได้แก่วงศ์เข็ม (Rubiaceae) วงศ์มะม่วง (Anacardiaceae) และวงศ์แคหางค่าง (Bignoniaceae) มีจำนวน 7, 5 และ 4 ชนิด ตามลำดับ โดยเหียง (Dipterocarpus obtusifolius) เป็นชนิดไม้ต้นที่มีค่าดัชนีความสำคัญทางนิเวศวิทยา (IVI) สูงสุด เท่ากับร้อยละ 47.68 ปริมาณมวลชีวภาพรวมของไม้ต้นทั้งหมด เท่ากับ 566.63 ตันต่อเฮกแตร์ คิดเป็นปริมาณการกักเก็บคาร์บอน เท่ากับ 266.32 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ ปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เท่ากับ 976.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเฮกแตร์ และปริมาณการปลดปล่อยก๊าซออกซิเจน เท่ากับ 2,603.98 ตันออกซิเจนต่อเฮกแตร์  

สรุป: ไม้ต้นในป่าชุมชนบ้านวังกะบาก สามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนรวมถึงดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ค่อนข้างสูง ดังนั้นการวางแผนจัดการป่าไม้ให้คงความอุดมสมบูรณ์และช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า นับเป็นการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนและช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้

คำสำคัญ: ความหลากหลายของพืช, การดูดซับคาร์บอน, เรดด์พลัส, ป่าชุมชน


Download full text (Thai pdf): 8 clicks