THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ความหลากชนิดและพลวัตของกล้าไม้ต้นในป่าดิบชื้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระนอง

สถิตย์ ถิ่นกำแพง1, ดอกรัก มารอด1, สราวุธ พะลายะสุต2, พรประภา อนุกูล2 และ เดชา ดวงนามล3*
1ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
2เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา ตำบลสุขสำราญ ระนอง 85120
3สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระนอง
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: rdidcd@ku.ac.th
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันอาจส่งผลต่อการสืบต่อพันธุ์ของกล้าไม้ที่มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจัยแวดล้อมได้ค่อนข้างรวดเร็ว วัตถุประสงค์การศึกษา เพื่อทราบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับท้องถิ่นต่อการตั้งตัวกล้าไม้ในป่าดิบชื้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา  

วิธีการ: ทำการวางแปลงกล้าไม้ ขนาด 2 x 2 เมตร จำนวน 50 แปลง ภายในแปลงถาวรขนาด 4 เฮกแตร์ เพื่อติดตาม    พลวัตป่า โดยทำการติดหมายเลขกล้าไม้ต้นทุกต้น ระบุชนิดกล้าไม้และติดตามข้อมูลการเกิดและรอดตายทุกเดือน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลอุณหภูมิและความเข้มแสงอัตโนมัติ ตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 - มกราคม พ.ศ. 2567      ทำการวิเคราะห์ข้อมูล ดัชนีค่าความสำคัญของพรรณไม้ ดัชนีค่าความหลากหลาย อัตราการเกิด อัตราการตาย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลการศึกษา: พบความหลากชนิดกล้าไม้ต้น จำนวน 128 ชนิด  83 สกุล ใน 39 วงศ์ ความหนาแน่ของกล้าไม้ มีค่าเท่ากับมีค่าเท่ากับ 47,100 ต้นต่อเฮกแตร์ มีค่าดัชนีความหลายชนิดของ Shannon-Weiner ค่อนข้างสูง (H/=  4.33) ชนิดกล้าไม้เด่นเมื่อพิจารณาจากดัชนีค่าความสำคัญใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ เข็มทอง (Greenea corymbosa) เชียด (Cinnamomum altissimum) ผักหวานช้างผสมโขลง (Rinorea sclerocarpa) แดงควน (Syzygium attenuatum) และดำตะโก (Diospyros wallichii) มีค่าเท่ากับ 8.81, 8.68, 7.84, 7.31 และ 6.17 เปอร์เซ็นต์ พลวัตของกล้าไม้พบว่าอัตราการเพิ่มจำนวนมีค่าสูงกว่าอัตราการตาย เกือบ 5 เท่า (เท่ากับ5.57 ± 3.79 และ 0.27 ± 0.42 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน) โดยเฉพาะอัตราการตายสูงมากในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) ที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนที่ต่ำ อุณหภูมิและความเข้มแสงที่สูงในรอบปี แม้ว่าอัตราการตายและการเพิ่มจำนวนมีความแปรผันระหว่างชนิด โดยชนิดที่มีอัตราการเพิ่มจำนวนสูงสุด ตะเคียนรากใบใส กรายดำ ตะเคียนรากใบขุ่น ไข่เขียว และพลับระนอง นั้นส่วนใหญ่เป็นไม้เด่นในป่าดิบชื้นของไทย และอัตราการตายสูง เข็มเขากวาง เข็มทอง และ พะบ้าง เป็นไม้ชั้นรองของป่าดิบชื้น อย่างไรก็ตาม ยางมันหมู และนาคบุตร ซึ่งเป็นกล้าไม้เด่นแต่ก็มีอัตราการตายสูงในช่วงฤดูแล้ง

สรุป: การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศท้องถิ่นมีแนวโน้มส่งผลต่อการสืบต่อพันธุ์และการตั้งตัวของกล้าไม้ โดยเฉพาะต่อความแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความรู้ที่ได้สามารถใช้ในการวางแผนอนุรักษ์ชนิดไม้ที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำสำคัญ: พลวัตกล้าไม้ ความหลากชนิดของกล้าไม้ การสืบต่อพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศท้องถิ่น


Download full text (Thai pdf): 20 clicks