THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
การประเมินการบริการระบบนิเวศด้านวัฒนธรรม: กรณีศึกษาความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับพื้นที่สีเขียว ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
หลักการและวัตถุประสงค์: อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ) เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เป็นพื้นที่มีประโยชน์สู่สังคมและส่วนรวม ด้วยแนวความคิดการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อประเมินความเต็มใจที่จะจ่ายในการบำรุงรักษาอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ โดยใช้วิธีการประเมินค่าโดยการสัมภาษณ์ประชาชนโดยตรง (Contingent Valuation Method: CVM)
วิธีการ: ใช้แบบสอบถามสัมภาษณ์กลุ่มตัวผู้ใช้บริการพื้นที่ และไม่ได้ใช้พื้นที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯอย่างจำนวน 403 ตัวอย่างจากกลุ่มอายุ 15 – 60 ปี .ในเขตปทุมวัน จังหวัดกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนมกราคม ถึงมีนาคม พ.ศ.2563 การศึกษานี้ใช้วิธีนำการวิเคราะห์ Chi-square เพื่อทดสอบความเป็นอิสระระหว่างตัวแปร และค่าความเต็มใจที่จะจ่ายโดยใช้โปรแกรม RStudio
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างชื่นชอบกิจกรรมในสวนสาธารณะมากที่สุดคือการออกกำลังกายและการพักผ่อน และพบว่า ร้อยละ 71 ของกลุ่มตัวอย่างมีความยินดีจ่ายที่ 100 บาท/คน/ปี โดยใช้ตัวแปรอายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้มีความสัมพันธ์อย่างมีความสำคัญกับความเต็มใจที่จะจ่ายจากการทดสอบ χ2 นอกจากนี้การเข้ามาใช้สวนสาธารณะบ่อยขึ้น โอกาสที่จะมีความเต็มใจที่จะจ่ายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีความสำคัญสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ยินดีจ่ายเงินเพื่อการบำรุงรักษาอุทยาน100 ปี จุฬาฯ
สรุป: การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยให้นักวางผังเมืองเข้าใจการรับรู้ของประชาชนในชุมชน และช่วยให้พวกเขาสามารถเสนอสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ชุมชนได้ หน่วยงานอุทยาน100 ปี จุฬาฯสามารถนำไปจัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับปรุงความตระหนักรู้ของประชาชนในชุมชนต่อไป
คำสำคัญ: มูลค่าทางเศรษฐกิจ, ป่าไม้ในเมือง, การประเมินมูลค่าทางการเงิน, นันทนาการในสวนสาธารณะ