THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
ความสำคัญของช่องว่างป่าต่อนกอพยพในป่าดิบเขาระดับต่ำ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: ช่องว่างป่าในธรรมชาติสร้างความซับซ้อนให้เกิดขึ้นกับโครงสร้างป่า นับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเฉพาะและดึงดูดให้นกเข้ามาใช้ประโยชน์ วัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อตรวจสอบการปรากฏ ดัชนีมวลกาย การเลือกใช้แหล่งที่อยู่อาศัย และอิทธิพลของขนาดช่องว่างป่าต่อโอกาสในการพบนกอพยพ คือนกกระจ้อยวงตาสีทองพันธุ์จีน (Phylloscopus omeiensis) และนกกระจ้อยวงตาสีทองแถบปีกเหลือง (Phylloscopus valentini) ในป่าดิบเขาระดับต่ำ ลุ่มน้ำห้วยคอกม้า อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่
วิธีการ: คัดเลือกแปลงถาวรป่าดิบเขาระดับต่ำ ขนาด 400 x 400 เมตร เพื่อสำรวจนกอพยพในบริเวณช่องว่างป่า (Forest gap; FG) และบริเวณที่มีเรือนยอดแน่นทึบ (Under closed canopy; UCC) โดยใช้วิธีตั้งตาข่าย (mist net) จำนวน 12 จุด และทำการติดห่วงขานก สำรวจเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งสิ้น 61 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ. 2557 - ตุลาคม พ.ศ. 2562
ผลการศึกษา: พบนกกระจ้อยวงตาสีทองพันธุ์จีน (P. omeiensis) 63 ครั้ง จากนกที่ถูกติดห่วงขา 45 ตัว และพบนกกระจ้อยวงตาสีทองแถบปีกเหลือง (P. valentini) 79 ครั้ง จากนกที่ถูกติดห่วงขา 50 ตัว ข้อมูลการถูกจับซ้ำในพื้นที่ศึกษาพบว่า นกทั้งสองชนิดมีการกลับมาใช้พื้นที่มากที่สุด 3 ปีต่อเนื่องกัน ส่วนของช่วงเวลาในการแวะพัก (Stopover) พบ 3 – 7 เดือนใน P. omeiensis และ 5 – 8 เดือนใน P. valentini การพิจารณาคะแนนไขมันในช่วงอพยพพบว่า P. omeiensis และ P. valentini มีไขมันเพิ่มขึ้นจากเดิมก่อนอพยพกลับถิ่นฐานเดิม 69% และ 78% ตามลำดับ ส่วนการเลือกใช้ถิ่นอาศัยย่อยซึ่งเปรียบเทียบระหว่างบริเวณช่องว่างป่ากับบริเวณที่มีเรือนยอดแน่นทึบ ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในนกทั้งสองชนิด ขณะที่ความสัมพันธ์ของนกกับขนาดช่องว่างป่าพบว่ามีขนาดพื้นที่ใช้ประโยชน์อยู่ระหว่าง 400 – 500 ตารางเมตร มากที่สุด
สรุป: กระบวนการทดแทนตามธรรมชาติสร้างช่องว่างป่าที่มีสภาพแวดล้อมเฉพาะตัวขึ้นในพื้นที่ป่าดิบเขาระดับต่ำ เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนกอพยพในการใช้เป็นแหล่งอาศัยและฟื้นฟูร่างกายก่อนฤดูกาลอพยพกลับถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม
คำสำคัญ: ไขมัน; ช่องว่างป่า; นกอพยพ; ป่าดิบเขา; นกกระจ้อยวงตาสีทอง