THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
การศึกษาลักษณะบางประการทางนิเวศวิทยาของแต่ละรูปแบบการฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ ในอุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: การฟื้นฟูป่าอนุรักษ์เสื่อมสภาพให้คืนกลับเข้าสู่ป่าธรรมชาติดั้งเดิมนับว่าเป็นแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้ที่ดินป่าไม้อย่างไม่ถูกต้องในปัจจุบัน วัตถุประสงค์การศึกษานี้เพื่อศึกษารูปแบบการฟื้นฟูป่าที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างระบบนิเวศแก่ชุมชน
วิธีการ: คัดเลือกพื้นที่ป่าฟื้นฟูบริเวณอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มาเป็นแปลงปลูกทดลอง โดยใช้กล้าไม้จำนวน 27 ชนิด ปลูกฟื้นฟูใน 6 รูปแบบ คือ (1) การฟื้นฟูตามธรรมชาติ (2) ปลูกโดยใช้ไม้โตเร็ว (3) ปลูกโดยใช้ไม้โตเร็วผสมไม้โตช้า (4) การปลูกชนิดพืชโครงสร้าง โดยใช้ไม้ท้องถิ่น (5) การปลูกแบบผสมผสาน และ (6) การปลูกฟื้นฟูตามแนวพระราชดำริ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ติดตามการเติบโตของกล้าไม้ ระยะเวลา 4 ปี (ปี พ.ศ. 2562 – 2566)
ผลการศึกษา: กล้าไม้ปลูกทั้ง 27 ชนิด มีอัตราการเติบโตทางเส้นผ่านศูนย์กลางคอรากและความสูงเฉลี่ย 20.6 มม./ปี และ 91.0 ซม./ปี ตามลำดับ และมีอัตราการรอดตายเฉลี่ย 42.3% พบว่าดัชนีชี้วัดการฟื้นฟูดังกล่าวมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างรูปแบบการฟื้นฟู โดยรูปแบบการฟื้นฟูที่กล้าไม้มีอัตราการรอดตายสูงสุดคือ การปลูกชนิดพืชโครงสร้าง (51.4%) รองลงมาคือ การปลูกแบบผสมผสาน การปลูกตามแนวพระราชดำริ การปลูกโดยใช้ไม้โตเร็ว และการปลูกผสมโดยใช้ไม้โตเร็วและไม้โตช้า สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเส้นผ่านศูนย์กลางคอรากที่พบสูงสุดในรูปแบบการปลูกชนิดพืชโครงสร้าง (28.6 มม./ปี) รองลงมาคือ ปลูกแบบผสมผสาน ปลูกโดยใช้ไม้โตเร็วผสมไม้โตช้า ปลูกโดยใช้ไม้โตเร็ว และการปลูกตามแนวพระราชดำริ ขณะที่รูปแบบที่กล้าไม้มีอัตราการเจริญเติบโตทางความสูงสุด คือ ปลูกโดยไม้โตเร็วผสมไม้โตช้า (104.7 ซม./ปี) รองลงมา คือ ปลูกแบบเชิงโครงสร้าง ปลูกตามแนวพระราชดำริ ปลูกแบบผสมผสาน และปลูกโดยใช้ไม้โตเร็ว ซึ่งรูปแบบการปลูกชนิดพืชโครงสร้างมีค่าดัชนีจากการตรวจวัดค่อนข้างสูงแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการคืนสู่สภาพป่าดั้งเดิมที่ดำเนินไปได้อย่างดีในรูปแบบนี้
สรุป: รูปแบบการปลูกเชิงโครงสร้างมีความเหมาะสมในการพื้นฟูระบบนิเวศและเป็นแนวทางที่ชุมชนในพื้นที่ให้การยอมรับว่าเหมาะสมมากที่สุด
คำสำคัญ: การฟื้นฟูป่า, อุทยานแห่งชาติศรีน่าน, มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562