THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในลูกอ๊อดสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกสามชนิด: ผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์สะเทิน
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: การศึกษานี้มุ่งศึกษาการปรากฏและลักษณะของไมโครพลาสติกในลูกอ๊อดสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 3 ชนิด คือ กบนา เขียดบัว และอึ่งอ่างบ้าน
วิธีการ: เก็บตัวอย่างลูกอ๊อดจากพื้นที่ศึกษา 2 จังหวัด คือ บึงกาฬและขอนแก่น สลบลูกอ๊อดด้วยสารละลายคลอรีโทนและเก็บรักษาสภาพด้วยแอลกอฮอล 70% จำแนกชนิดลูกอ๊อดโดยการศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาภายนอกเปรียบเทียบกับคำบรรยายลักษณะที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการย่อยลูกอ๊อดด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 30% โดยบ่มที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส แล้วปล่อยให้ตกตะกอนที่อุณหภูมิห้อง จากนั้นกรองเศษเหลือจากการย่อยด้วยกระดาษกรอง Whatman เบอร์ 1 (110 มม.) และนำกระดาษกรองมาตรวจหาชิ้นส่วนไมโครพลาสติกด้วยกล้องสเตอริโอ Nikon SMZ-745T ถ่ายภาพและวัดขนาดไมโครพลาสติกด้วยโปรแกรม NIS Elements
ผลการศึกษา: การศึกษานี้ใช้ตัวอย่างลูกอ๊อด 12 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ลูกอ๊อดกบนา 3 ตัวอย่าง (TL เฉลี่ย 17.5±1.03; ระยะ 29) เขียดบัว 3 ตัวอย่าง (TL เฉลี่ย 38.5±5.69; ระยะ 43) และอึ่งอ่างบ้าน 6 ตัวอย่าง (TL เฉลี่ย 26.8±1.23; ระยะ 38) ผลการศึกษาพบชิ้นส่วนไมโครพลาสติกจำนวน 26 ชิ้น ประกอบด้วยชิ้นพลาสติกที่เป็นแผ่นและเส้นใย อึ่งอ่างบ้านพบจำนวนไมโครพลาสติกมากที่สุด (15 ชิ้น) ซึ่งทั้งหมดเป็นเส้นใย ลูกอ๊อดทั้ง 3 ชนิด พบไมโครพลาสติกที่มีขนาดแตกต่างกัน โดยกบนาพบไมโครพลาสติกแบบแผ่นจำนวนมากกว่า
สรุป: การศึกษานี้รายงานการพบไมโครพลาสติกในลูกอ๊อดสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจากประเทศไทย และย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
คำสำคัญ: ไมโครพลาสติก, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, ลูกอ๊อด, การปนเปื้อน, นิเวศวิทยา