THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
ความหลากหลายของเฟิร์นในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันที่มีชั้นอายุแตกต่างกัน ในพื้นที่อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: เนื่องจากมีข้อถกเถียงกันว่าสวนปาล์มน้ำมันมีคุณค่าในเชิงการเป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของเฟิร์นนอกถิ่นอาศัยหรือไม่ งานวิจัยนี้จึงเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายของเฟิร์นในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน 3 ชั้นอายุ (น้อยกว่า 10 ปี, 11-20 ปี, มากกว่า 20 ปี) ที่มีลักษณะการจัดการที่ใกล้เคียงกัน เปรียบเทียบกับเฟิร์นที่พบในพื้นที่ป่าดิบชื้นธรรมชาติบริเวณใกล้เคียง
วิธีการ: ทำการวางแปลงชั่วคราว ขนาด 40 x 40 เมตร ในป่าธรรมชาติและสวนปาล์มน้ำมันชั้นอายุละ 3 แปลง เพื่อสำรวจชนิดของเฟิร์นที่ขึ้นบนดิน (terrestrial fern) และเฟิร์นอิงอาศัย (epiphytic fern) ที่อยู่บนต้นปาล์มน้ำมันหรือต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก ตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตรขึ้นไป ที่ระดับความสูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 เมตร ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม ถึง 31 สิงหาคม 2565 ในพื้นที่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง
ผลการศึกษา: พบเฟิร์นทั้งหมด จำนวน 7 วงศ์ 20 สกุล 26 ชนิด แบ่งเป็นเฟิร์นขึ้นบนดิน 16 ชนิด และเป็นเฟิร์นอิงอาศัย 10 ชนิด โดยวงศ์ที่พบมากที่สุดคือวงศ์ Polypodiaceae พบจำนวน 8 สกุล 8 ชนิด ส่วนวงศ์อื่น ๆ ได้แก่ วงศ์ Pteridaceae จำนวน 5 สกุล 6 ชนิด วงศ์ Aspleniaceae จำนวน 3 สกุล 6 ชนิด วงศ์ Schizaeaceae จำนวน 1 สกุล 3 ชนิด ส่วนวงศ์ Cyatheaceae, Marattiaceae และ Gleicheniaceae พบวงศ์ละ 1 ชนิด โดยแบ่งเป็นเฟิร์นที่พบในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันชั้นอายุน้อยกว่า 10 ปี จำนวน 3 วงศ์ 5 สกุล 5 ชนิด ชั้นอายุ 11-20 ปี จำนวน 4 วงศ์ 11 สกุล 11 ชนิด และชั้นอายุมากกว่า 20 ปี จำนวน 4 วงศ์ 11 สกุล 13 ชนิด และเฟิร์นที่พบในพื้นที่ป่าดิบชื้นจำนวน 7 วงศ์ 11 สกุล 14 ชนิด
สรุป: พื้นที่สวนปาล์มน้ำมันชั้นอายุมากจะมีความหลากหลายของชนิดเฟิร์นมากกว่าสวนปาล์มน้ำมันชั้นอายุน้อย แม้ว่าพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันชั้นอายุมากกว่า 20 ปี มีจำนวนชนิดของเฟิร์นใกล้เคียงกับในพื้นที่ป่าดิบชื้น แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพื้นที่นี้มีดัชนีความคล้ายคลึงที่ค่อนข้างต่ำ (22.22%) ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ก่อนที่จะสรุปว่าสวนปาล์มน้ำมันมีคุณค่าและเหมาะสมในเชิงการเป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของเฟิร์นนอกถิ่นอาศัย
คำสำคัญ: เกษตรกรรม, พืชต่างถิ่นรุกราน, ความหลากหลายทางชีวภาพ, ป่า, ประเทศไทย