THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ผลของการตัดแต่งไม้ต้นต่อการเจริญเติบโตและศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน

ในพื้นที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

วรเชษฐ์ วรเวชกุล1*, ณปภัช วงศ์น่าน1, วิกาญดา สายวงค์ใจ1, ปรียาภรณ์ แสงเรือน1, กิตตินันทน์ ปูอินต๊ะ1, ธีรพล บุตรสีทอง1, ธีรานนท์ ปาสุธรรม1, ปิยะพงษ์ มีปัญญา1, กรมิษฐ์ สมหวัง1, ภูธาดล ธีรอธิยุต1, อาณดา นิรันตรายกุล1, สุธีระ เหิมฮึก2 และ วิชญ์ภาส สั
1สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จังหวัดเชียงใหม่ 50200
2คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 50290
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: WORACHETV@gmail.com
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: อุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองซึ่งมีบทบาทสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม การตัดแต่งทรงพุ่มที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ วัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อทราบผลของการตัดแต่งทรงพุ่มต่อการเจริญเติบโต และการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้ต้น

วิธีการ: ทำการตัดแต่งทรงพุ่มชนิดไม้ต้นตัวอย่าง 3 รูปแบบ คือ 1) ตัดแต่งทรงพุ่มออก >50% (ประดู่ป่า มะฮอกกานี) 2) ตัดแต่งทรงพุ่มออก <50% (ประดู่แดง ผักเฮือด พิกุล และราชพฤกษ์) และ 3) ไม่มีการตัดแต่งทรงพุ่ม จากนั้นประเมินอัตราการเติบโตและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้ต้น ระหว่างปี 2564 ถึง 2566 โดยสมการ ของ Chave et al. (2005)

ผลการศึกษา: อัตราความโตสัมพัทธ์ของประดู่ป่า และมะฮอกกานี (มีการตัดแต่งทรงพุ่ม > 50%) มีความแตกต่างจากไม่ตัดแต่งอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.05) ในด้านการสะสมมวลชีวภาพสัมพัทธ์ พบว่าประดู่ป่าที่ตัดแต่งมีค่าน้อยกว่าที่ไม่ตัดแต่ง เฉลี่ย 0.08 และ 0.12 (P < 0.05) ในขณะที่มะฮอกกานีไม่พบความแตกต่างทางสถิติ ในส่วนของการตัดแต่งทรงพุ่มน้อยกว่า 50% พบว่าประดู่แดงและพิกุลที่มีความโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไม่ตัดแต่ง (P < 0.001 และ P<0.05 ตามลำดับ) แตกต่างจาก ราชพฤกษ์ ที่มีค่าอัตราความโตสัมพัทธ์เป็นไปในทางลบสำหรับไม้ที่ตัดแต่งกิ่ง อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตสัมบูรณ์และความสูงสัมพัทธ์กลับมีผลในทางบวก ในด้านปริมาณมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอน พบว่าประดู่แดงและพิกุลที่ตัดแต่งมีการเปลี่ยนแปลงมวลชีวภาพมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้การสะสมมวลชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.001 และ P<0.05 ตามลำดับ) คือ 49.59 และ 12.6 กิโลกรัม/ปี ตามลำดับ ขณะที่ราชพฤกษ์ที่ตัดแต่งมีอัตราการสะสมมวลชีวภาพสัมพัทธ์ และการกักเก็บคาร์บอนลดลง ในส่วนของผักเฮือดพบว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติระหว่างสองรูปแบบ 

สรุป: การตัดแต่งเรือนยอดมีผลต่ออัตราการเติบโตและความผันแปรของปริมาณมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนของไม้ต้น ดังนั้น การตัดแต่งไม้ต้นต้องคำนึงถึงรูปแบบที่เหมาะสมกับชนิดไม้ จะทำให้การเติบโตและศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนดียิ่งขึ้น

คำสำคัญ: ป่าในเมือง, พื้นที่ให้บริการ, นิเวศวิทยา, สิ่งแวดล้อม


Download full text (Thai pdf): 25 clicks