THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
การประเมินผลผลิตสุทธิขั้นปฐมภูมิของป่าปลูกโกงกางใบใหญ่โดยใช้มวลชีวภาพ และลักษณะทางชีพลักษณ์ของใบในพื้นที่ชายฝั่งบางปู จังหวัดสมุทรปราการ
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: ผลผลิตซากพืชที่ร่วงหล่นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการประมาณผลผลิตสุทธิขั้นปฐมภูมิ แต่มีการศึกษาไม่มากนักในป่าปลูกระดับไม้รุ่น การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณผลผลิตสุทธิขั้นปฐมภูมิ จากซากพืชที่ร่วงหล่นด้วยการศึกษาชีพลักษณ์ของใบไม้รุ่นโกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) อายุ 3 ปี รวมถึงศึกษาการเพิ่มพูนมวลชีวภาพ ในป่าชายเลนปลูกบริเวณชายฝั่งบางปู จังหวัดสมุทรปราการ
วิธีการ: วางแปลงขนาด 5 × 5 ตารางเมตร จำนวน 4 แปลง เพื่อศึกษาโครงสร้างป่าและมวลชีวภาพโดยใช้สมการแอลโลเมตรีของไม้รุ่นโกงกางใบใหญ่ในการคำนวณ ศึกษาชีพลักษณ์ของใบโดยวิธี Tagging method เพื่อประมาณอัตราการร่วงของใบและปริมาณซากพืชที่ร่วงหล่นรายเดือน คำนวณผลผลิตซากพืชที่ร่วงหล่นจากผลรวมของซากพืชที่ร่วงหล่นรายเดือน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างซากพืชที่ร่วงหล่นรายเดือนกับปัจจัยสิ่งแวดล้อม และผลผลิตสุทธิขั้นปฐมภูมิของไม้รุ่นที่มีชีวิตตลอดการศึกษา
ผลการศึกษา: อัตราการร่วงของใบมีค่ามากที่สุดในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2563 แต่ซากพืชที่ร่วงหล่นรายเดือนมีค่ามากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2563 ซากพืชที่ร่วงหล่นรายเดือนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอุณหภูมิอากาศ ผลผลิตซากพืชที่ร่วงหล่นมีค่าเท่ากับ 0.89 ± 0.45 ตัน/เฮกแตร์/ปี ค่าเฉลี่ยมวลชีวภาพที่เพิ่มพูนมีค่าเท่ากับ 1.91 ± 0.35 ตัน/เฮกแตร์/ปี ป่าปลูกมีผลผลิตสุทธิขั้นปฐมภูมิอยู่ระหว่าง 2.32–3.45 ตัน/เฮกแตร์/ปี ซึ่งผลผลิตซากพืชที่ร่วงหล่นมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงคิดเป็น 21.2–45.2% ของผลผลิตสุทธิขั้นปฐม
สรุป: ชีพลักษณ์ใบของไม้รุ่นโกงกางใบใหญ่ ในป่าชายเลนมีความผันแปรตามช่วงเวลาและสัมพันธ์กับอุณหภูมิอากาศ สามารถใช้ในการประเมินผลผลิตซากพืชที่ร่วงหล่น และบ่งบอกถึงศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของไม้รุ่นในป่าปลูก
คำสำคัญ: มวลชีวภาพที่เพิ่มพูน; ผลผลิตซากพืชที่ร่วงหล่น; การกักเก็บคาร์บอน; ไม้รุ่น; แปลงปลูกป่าชายเลน