THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ผลของการฟื้นฟูป่าต่อการใช้ประโยชน์ป่าไม้ พื้นที่สถานีพัฒนาป่าไม้บ้านห้วยปูลิง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ศุภกร สุวรรณเกษา1,2, สุธีระ เหิมฮึก1,3*, วิชญ์ภาส สังพาลี1,3, เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง1 และ ขนิษฐา เสถียรพีระกุล1,4
1สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 50290
2สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จังหวัดเชียงใหม่ 50100
3สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 50290
4สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร และสิ่งแวดล้อม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 50290
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: h.sutheera@gmail.com
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: รูปแบบการฟื้นฟูป่ามักมีเป้าหมายเพื่อการช่วยย่นระยะเวลาการฟื้นตัวกลับคืนสู่ป่าดั้งเดิม รวมถึงตอบสนองการใช้ประโยชน์ป่าจากชุมชนโดยรอบ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบผลของการฟื้นฟูป่าต่อการใช้ประโยชน์ป่าไม้ในด้านต่าง ๆ สถานีพัฒนาป่าไม้บ้านห้วยปูลิง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 

วิธีการ: ในปี 2565-2566 ทำการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้านพืช จากการสุ่มแบบเจาะจง ด้วยแปลงขนาด 20 x 50 เมตร ในพื้นที่แปลงป่าฟื้นฟูสามพื้นที่คือ ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ ป่าปลูกปี 2547 และปลูกปี 2551 พื้นที่ละ 3 แปลง ร่วมกับการออกแบบสัมภาษณ์ประชากร 142 ครัวเรือน และการสนทนากลุ่มเพื่อให้ชาวบ้านได้ระบุรูปแบบการใช้ประโยชน์ป่าไม้ (พืชอาหาร พืชสมุนไพร เนื้อไม้ และอื่น ๆ) โดยเฉพาะชนิดพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ ตลอดจนแนวทางการจัดการป่าไม้ภายใต้การดูแลของสถานีฯ

ผลการศึกษา: พบชนิดพรรณไม้ทั้งสามพื้นที่ จำนวน 51 ชนิด 41 สกุล ใน 24 วงศ์  มีค่าความหลากชนิดระดับปานกลาง (H/= 2.4) รูปแบบการกระจายของต้นไม้ตามช่วงชั้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเป็นแบบรูประฆังคว่ำ ทั้งสามพื้นที่ บ่งบอกถึงการสืบต่อพันธุ์ที่ไม่ปกติโดยมีจำนวนต้นไม้ขนาดเล็กน้อยกว่าจำนวนต้นไม้ขนาดใหญ่ อาจเนื่องมาจากการใช้สอยที่มากเกินไป การเข้าใช้ประโยชน์จากป่าไม้ พบว่าชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติมากที่สุด (ร้อยละ 100) รองลงมาได้แก่แปลงปลูกป่าปี 2551 และปี 2547 ร้อยละ 49.30 และ 21.13 ตามลำดับ ผลการเปิดเวทีสนทนากลุ่มพบว่าชาวบ้านต้องการให้ทางสถานีฯ สนับสนุนกล้าไม้ท้องถิ่นที่ชุมชนต้องการใช้เป็นไม้ฟืน ไม้ใช้สอย และกล้าไม้ผลเศรษฐกิจที่ควรส่งเสริมปลูกตามพื้นที่จัดสรร และต้องการพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่เหมาะสมเพื่อปล่อยสัตว์เลี้ยงในฤดูนา และสร้างระเบียบชุมชนในการใช้สอยป่าไม้ ภายใต้การมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชนในการดูแลรักษาป่า

สรุป: พื้นที่ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติสามารถตอบสนองการใช้ประโยชน์ป่าไม้ของชาวบ้านได้ดี การปล่อยให้ป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ขนาดเล็กได้ฟื้นตัวตามธรรมชาติจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ป่าไม้ต่อชุมชนได้มากขึ้น ภายใต้การจัดการอย่างยั่งยืน

คำสำคัญ: การสืบต่อพันธุ์ของพืช; การพึ่งพาทรัพยากรป่าไม้; การใช้ประโยชน์พืช


Download full text (Thai pdf): 78 clicks