THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
โครงสร้างและองค์ประกอบพรรณพืชบริเวณแนวรอยต่อป่าดิบชื้นและพื้นที่เกษตรกรรม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช
การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลต่อการเกิดหย่อมป่าและการสูญเสียความหลากหลายพรรณพืช การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบโครงสร้างและองค์ประกอบพรรณพืช บริเวณแนวรอยต่อป่าดิบชื้นและพื้นที่เกษตรกรรม ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน โดยวางแปลงถาวรแบบแถบ ขนาด 10 เมตร x 200 เมตร และกำหนดเขตพื้นที่เป็น 4 เขต คือ เขตป่าดิบชื้นที่เหลืออยู่ เขตป่าด้านใน เขตป่าตอนกลาง และเขตป่าด้านนอก ติดหมายเลขต้นไม้ วัดความโต และความสูงทั้งหมดของไม้ใหญ่และไม้รุ่น และเก็บข้อมูลปัจจัยแวดล้อมเพื่อวิเคราะห์การจัดลำดับหมู่ไม้ตามปัจจัยแวดล้อม ผลการศึกษา พบพรรณไม้ทั้งไม้ใหญ่และไม้รุ่นจำนวน 82 ชนิด 68 สกุล 41 วงศ์ มีความหนาแน่นและพื้นที่หน้าตัดต้นไม้เท่ากับ 2,145 ต้นต่อเฮกแตร์ และ 16.30 ตารางเมตรต่อเฮกแตร์ ตามลำดับ ความหลากชนิดไม้อยู่ในระดับสูง (H' = 3.86) วงศ์ที่มีความเด่นด้านจำนวนชนิดสูงสุด คือ วงศ์เปล้า (Euphorbiaceae) ความหนาแน่นไม้ทั้งสองระดับระหว่างเขตพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (F = 4.42, p ? 0.01 และ F = 14.04, p ? 0.01 ตามลำดับ) โดยพบไม้ใหญ่มากที่สุดในเขตป่าดิบชื้นที่เหลืออยู่และน้อยที่สุดในเขตขอบป่าด้านนอก ซึ่งทิศทางตรงข้ามกับระดับไม้รุ่น รูปแบบกระจายของต้นไม้ตามขนาดชั้นเส้นผ่านศูนย์กลาง เป็นแบบชี้กำลังเชิงลบ แสดงว่าสังคมพืชสามารถรักษาโครงสร้างป่าไว้ได้ดี ขณะที่พิกุลป่า มีรูปแบบการกระจายไม่ต่อเนื่องหรือแบบระฆังคว่ำ บ่งบอกการสืบต่อพันธุ์ที่ไม่ต่อเนื่อง ผลการจัดลำดับหมู่ไม้ พบว่าระดับความสูงของพื้นที่และเปอร์เซ็นต์การปกคลุมเรือนยอดมีอิทธิพลต่อการกำหนดการปรากฏของกลุ่มพรรณไม้ในป่าดิบชื้น ขณะที่ความหนาแน่นรวมดินที่สูง เปอร์เซ็นต์การปกคลุมเรือนยอดและความชื้นดินต่ำมีผลต่อการปรากฏของพรรณพืชกลุ่มไม้เบิกนำบริเวณเขตขอบป่าด้านนอก แสดงให้เห็นถึงความต้องการทางนิเวศวิทยาที่แตกต่างกันระหว่างชนิดไม้พื้นถิ่นและไม้เบิกนำ ดังนั้น การคัดเลือกชนิดไม้เพื่อการฟื้นฟูป่าที่มีความเหมาะสมตามปัจจัยแวดล้อม ย่อมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นคืนสู่ป่าธรรมชาติดั้งเดิมได้เร็วขึ้น
คำสำคัญ: แนวรอยต่อป่า ป่าดิบชื้น การรบกวน ความหลากชนิดพืช การฟื้นฟูป่าตามธรรมชาติ