THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากมูลค่านิเวศบริการในสวนสาธารณะที่ออกแบบแบบบูรณาการกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย: อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักการและวัตถุประสงค์: การศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการประเมินมูลค่าทางการเงินของการบริการระบบนิเวศในอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อุทยานฯ)
วิธีการ: เก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิด้านการให้บริการเชิงนิเวศจากงานวิจัยเชิงประจักษ์ และแปลงมูลค่าเป็นหน่วยเงินโดยใช้หลักวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทน (Cost-Benefit analysis) เพื่อวิเคราะห์มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net present value) และผลตอบแทนทางสังคม (Social return on investment) การประเมินผลประโยชน์การให้บริการเชิงนิเวศ ประกอบด้วย 1) ด้านการเป็นแหล่งผลิต โดยใช้มูลค่าของไม้ 2) ด้านการควบคุมกลไกของระบบ โดยใช้มูลค่าในการเลี่ยงการไหลบ่าของน้ำ และการกักเก็บและสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ 3) การบริการด้านวัฒนธรรม โดยใช้ข้อมูลความเต็มใจจะจ่าย และ 4) การบริการสนับสนุนด้วยมูลค่าการเป็นที่อยู่อาศัยของนก โดยประเมินในกรอบระยะเวลา 20 ปี(พ.ศ. 2563 – 2582) ซึ่งมูลค่าในแต่ละด้านจะต้องถูกปรับค่าด้วยตัวแปรทางการเงิน เช่น อัตราเงินเฟ้อ และอัตราคิดลด (ร้อยละ 4)
ผลการศึกษา: การบริการระบบนิเวศตลอดระยะเวลา 20 ปี เมื่อพิจารณาการให้บริการระบบนิเวศใน 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นการประเมินผลประโยชน์การบริการระบบนิเวศสูงสุดที่เป็นไปได้ โดยมีสมมติฐานกำหนดให้ต้นไม้เจริญเติบโตเต็มที่ มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ณ ปี พ.ศ. 2567 เท่ากับ 65,240,382 บาทต่อปี คิดเป็นผลตอบแทนทางสังคมเท่ากับ 1.24 (ทุกเงินลงทุน 1 บาทพื้นที่สีเขียวจะได้รับผลตอบแทน 1.24 บาท) ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุน และในการประเมินผลประโยชน์การบริการระบบนิเวศต่ำสุดที่เป็นไปได้ มีสมมติฐานกำหนดให้ต้นไม้ตาย ทุกต้น มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิน้อยกว่าศูนย์ และมีผลตอบแทนทางสังคมเท่ากับ 0.74 แสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
สรุป: การศึกษานี้แสดงให้เห็นผลเชิงประจักษ์ของความคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อประโยชน์ในการบริการระบบนิเวศ ภายใต้ข้อจำกัดของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กในเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แก่สัตว์และความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นถึงมูลค่าของต้นไม้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความคุ้มค่า ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรดูแลรักษาต้นไม้ให้มีอายุยาวนาน และยังช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเกิดความเข้าใจด้านการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากมูลค่านิเวศบริการในสวนสาธารณะเพื่อจัดการแผนแม่บทพื้นที่สีเขียวของประเทศอย่างยั่งยืน
คำสำคัญ: ผลตอบแทนทางสังคม มูลค่าปัจจุบันสุทธิ การบริการระบบนิเวศ ป่าในเมือง สวนสาธารณะ