THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
การเติบโตและสัณฐานวิทยาของกล้าไม้ต้นป่าดิบเขาระดับต่ำบางชนิด อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: สัณฐานวิทยาและการเติบโตของกล้าไม้ในป่าดิบเขาระดับต่ำ มีความสำคัญต่อคัดเลือกชนิดกล้าไม้เพื่อใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอัตราการงอก การเติบโต และลักษณะสัณฐานวิทยาสำหรับจัดทำรูปวิธานกล้าไม้ต้นป่าดิบเขาระดับต่ำบางชนิด อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่
วิธีการ: ทำการเก็บเมล็ดพรรณไม้ที่ให้ผลภายในแปลงถาวรและบริเวณโดยรอบ ซึ่งสามารถเก็บเมล็ดไม้ได้ จำนวน 38 ชนิด 34 สกุล 23 วงศ์ ทำการวัดขนาดและชั่งน้ำหนักเมล็ด จากนั้นทำการทดสอบอัตราการงอกของเมล็ดไม้ในเรือนเพาะชำ จดบันทึกรูปแบบการงอก ติดตามการเติบโตคอราก ความสูง และการรอดตายทุก 7 วัน วิเคราะห์อัตราการงอก การรอดตายและการเติบโตของกล้าไม้ และทำรูปวิธานกล้าไม้
ผลการศึกษา: การทดสอบอัตราการงอกของเมล็ดพบว่าเมล็ดสามารถงอกได้ จำนวน 16 ชนิด 16 สกุล 12 วงศ์ (จาก 38 ชนิด) โดย พญาไม้มีอัตราการงอกสูงสุด (100%) รองลงมาคือ นางพญาเสือโคร่ง (87%) และกระเชา (73%) รูปแบบการงอกจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ แบบใบเลี้ยงชูขึ้นมาเหนือดิน พบ 10 ชนิด และ แบบใบเลี้ยงจมอยู่ใต้ดิน พบ 6 ชนิด ลักษณะของใบเลี้ยงจำแนกได้ 8 แบบ พบกล้าไม้ที่เป็นแบบใบเดี่ยว (11 ชนิด) และแบบใบประกอบ (5 ชนิด) ส่วนการเรียงตัวใบมี 3 รูปแบบ คือ แบบตรงกันข้าม (2 ชนิด) แบบสลับ (9 ชนิด) และแบบเรียงเวียน (5 ชนิด) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญต่อการจัดทำรูปวิธาน
สรุป: ศักยภาพการงอกของเมล็ดและการรอดตายของกล้าไม้เป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการคัดเลือกชนิดไม้ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการเตรียมกล้าไม้ในเรือนเพาะชำสำหรับการฟื้นฟูป่า รูปวิธานกล้าไม้ที่ได้จากการศึกษาเป็นประโยชน์ต่อการใช้ในการเก็บกล้าไม้ชนิดบริเวณพื้นป่า ดังนั้น การคัดเลือกชนิดที่มีอัตราการงอกสูง มีอัตราการตายต่ำและเป็นกลุ่มไม้โตเร็ว เช่น นางพญาเสือโคร่ง สามารถใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาเลือกชนิดพืชที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูป่าเนื่องจากใช้ปลูกเป็นไม้พี่เลี้ยง เพื่อปรับสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการตั้งตัวของไม้ดั้งเดิมได้
คำสำคัญ: สัณฐานวิทยาของเมล็ด การฟื้นฟูป่า อัตราการงอก รูปแบบการงอก