THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ลักษณะโครงสร้างสังคมพืชและการกักเก็บคาร์บอนของป่าผสมผลัดใบ ในพื้นที่อนุรักษ์ของสวนป่าสัก องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ

เพ็ญพิลัย เปี่ยนคิด1, กมลพร ปานง่อม2, มณฑล นอแสงศรี2, กันตพงศ์ เครือมา1, ศิริรัตน์ สมประโคน1, วราลี ศรีเกื้อ1, นรินธร จำวงษ์ 3, ปัทมา แสดงวิศิษฎ์ภิรมย์3 และ แหลมไทย อาษานอก4,5*
1สาขาวิชาการจัดการป่าไม้ โครงการจัดตั้งวิทยาลัยการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จ.แพร่ 54140
2สาขาวิชาการป่าไม้ โครงการจัดตั้งวิทยาลัยป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่ 54140
3ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
4สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่ 54140
5ศูนย์จัดการก๊าซเรือนกระจก โครงการจัดตั้งวิทยาลัยป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่ 54140
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: lamthainii@gmail.com
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: ความรู้ทางลักษณะสังคมพืชและปัจจัยแวดล้อมของป่าธรรมชาติในพื้นที่สวนป่าสามารถนำมาช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์และการกักเก็บคาร์บอนได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างสังคมพืช และการกักเก็บคาร์บอนป่าผสมผลัดใบ ในเขตป่าอนุรักษ์ของสวนป่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ 

วิธีการ: วางแปลงตัวอย่างแบบสุ่มเจาะจง ขนาด 0.16 เฮกตาร์ (40x40 เมตร) จำนวน 15 แปลง ในพื้นที่ 5 สวนป่า พร้อมเก็บข้อมูลชนิดไม้ต้น ปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะสังคมพืช และประเมินการกักเก็บคาร์บอน 

ผลการศึกษา: พบจำนวนชนิดไม้ต้นทั้งหมด 122 ชนิด 88 สกุล 40 วงศ์ จากไม้ทั้งหมด 2,246 ต้น มีความหนาแน่น เท่ากับ 935.83 ต้น/เฮกตาร์ พื้นที่หน้าตัด เท่ากับ 40.48 ตารางเมตร/เฮกตาร์ ค่าดัชนีความหลากชนิด (Shannon index, H’) เท่ากับ 3.57 สามารถจำแนกเป็นสังคมพืชย่อยได้ 3 หมู่ไม้ ได้แก่ 1) หมู่ไม้สัก พบชนิดไม้เด่น ได้แก่ สัก (Tectona grandis) แดง (Xylia xylocarpa) ประดู่ป่า (Pterocarpus macrocarpus) ตะเคียนหนู (Terminalia phillyreifolia) กุ๊ก (Lannea coromandelica) เป็นต้น มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเท่ากับ 493.44 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์ โดยมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล (ELEV) ความลาดชัน (SLPE) และระยะห่างจากแหล่งน้ำ (DIST) เป็นปัจจัยกำหนด 2) หมู่ไม้ประดู่ป่า พบชนิดไม้เด่น คือ ประดู่ป่า (Pterocarpus macrocarpus) ติ้วขน (Cratoxylum formosum) กาสามปีก (Vitex peduncularis) สัก (Tectona grandis) และ หมีเหม็น (Litsea glutinosa) เป็นต้น มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเท่ากับ 157.03 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์ ไม่ปรากฏปัจจัยกำหนดที่ชัดเจน และ 3) หมู่ไม้สาธร ชนิดไม้ต้นที่สำคัญ เช่น สาธร(Millettia leucantha) ตะแบกเกรียบ(Lagerstroemia cochinchinensis) มะกอกป่า (Spondias pinnata) กระพี้จั่น (Millettia brandisiana) กุ๊ก (Lannea coromandelica) เป็นต้น มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเท่ากับ 184.29 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์ โดยมีอุณหภูมิ (TEMP) เป็นปัจจัยกำหนด 

สรุป : พื้นที่ป่าผสมผลัดใบในเขตพื้นที่อนุรักษ์ของสวนป่าสักมีลักษณะของหมู่ไม้แตกต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อม ส่งผลให้ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น การจัดการเพื่อการอนุรักษ์พรรณพืชและส่งเสริมการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สวนป่าควรพิจารณาลักษณะสังคมพืชตามปัจจัยแวดล้อมเป็นสำคัญ

คำสำคัญ: ความหลากชนิดของไม้ต้น ปัจจัยจำกัด การจัดการสวนป่าเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ


Download full text (Thai pdf): 10 clicks