THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
ปัจจัยที่มีผลต่อการรอดของรังนกกาบบัว (Mycteria leucocephala) ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ภาคตะวันออกของประเทศไทย
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: นกกาบบัวเป็นนกลุยน้ำขนาดใหญ่ที่เคยพบได้ยากในอดีต แต่ปัจจุบันพบเห็นได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทำรังยังคงมีเพียงไม่กี่แห่ง สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเป็นหนึ่ง ในสถานที่ที่นกกาบบัวมักเลือกทำรัง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามชั้นอายุของนกในแต่ละเดือน และปัจจัยที่ส่งผลต่อการรอดของรังนกกาบบัวในพื้นที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ระหว่างปี พ.ศ. 2563-2564
วิธีการ: การสำรวจพื้นที่ทำรังของนกได้รวมถึงการบันทึกข้อมูลพิกัดรัง จำนวนรัง วันที่เริ่มสร้างรัง วันที่เริ่มฟักไข่ จำนวนตัวลูกนก วันที่พ่อแม่นกทิ้งรัง ช่วงอายุของลูกนก วันที่ลูกนกออกจากรัง และปัจจัยที่มีผลต่อการรอดชีวิตของลูกนก โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ Mayfield เพื่อประมาณอัตราการรอดชีวิตของรัง วิธี Kaplan-Meier เพื่อประเมินความน่าจะเป็นในการอยู่รอด รวมถึง Generalized Linear Model (GLM) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ (อุณหภูมิ ความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณฝน อายุรัง และความสูงของรัง) ที่มีผลต่อการรอดชีวิตของรัง
ผลการศึกษา: นกกาบบัวเริ่มทำรังตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม โดยการทำรังไม่พร้อมกัน ทำให้ช่วงอายุของลูกนกแตกต่างกัน พบการทำรังมากที่สุดในเดือนมกราคม โดยอัตราการรอดชีวิตรายวัน (Daily survival rate) ของรังนกอยู่ที่ 0.997 และอัตราการรอดชีวิตของรัง (Nest survival rate) เท่ากับ 74 % อัตราการรอดชีวิตลดลงในช่วงระยะการสร้างรังและระยะฟักไข่ แต่เริ่มคงที่ในสัปดาห์ที่แปดขึ้นไป ซึ่งใกล้เคียงกับอายุของลูกนกที่มากกว่า 16 วัน อายุของลูกนกเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อการรอดชีวิต ลูกนกที่มีอายุมากมีอัตราการรอดชีวิตที่ดีกว่า
สรุป: อัตราการรอดชีวิตของรังนกในช่วงแรกของการสร้างรังและระยะฟักไข่พบการล้มเหลวสูง ส่วนรังที่ประสบความสำเร็จมักเกี่ยวข้องกับลูกนกในรังมีอายุมากกว่า 16 วัน
คำสำคัญ: วิธีการแคปลาน และไมย์เออร์, นกลุยน้ำขนาดใหญ่, อัตราความสำเร็จของรัง