THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

การตั้งตัวของสังคมไม้ต้นในพื้นที่สวนสักทิ้งร้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ

วราลี ศรีเกื้อ1, มณฑล นอแสงศรี2, กฤษดา พงษ์การัณยภาส3, นรินธร จำวงษ์ 4, ปัทมา แสดงวิศิษฎ์ภิรมย์ 4, กันตพงศ์ เครือมา1 และ แหลมไทย อาษานอก 3,5*
1สาขาวิชาการจัดการป่าไม้ โครงการจัดตั้งวิทยาลัยการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่ 54140
2สาขาวิชาการป่าไม้ โครงการจัดตั้งวิทยาลัยป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่ 54140
3สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่ 54140
4ศูนย์วิจัยป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
5ศูนย์จัดการก๊าซเรือนกระจก โครงการจัดตั้งวิทยาลัยป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่ 54140
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: lamthainii@gmail.com
บทคัดย่อ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: พื้นที่สวนสักทิ้งร้าง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการจัดการทางวนวัฒน์วิธีและปล่อยทิ้งให้เกิดการทดแทนตามธรรมชาติและมีไม้ต้นเข้ามาตั้งตัวทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบชนิดไม้ ในพื้นที่สวนสักทิ้งร้างของสวนป่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ

วิธีการ: วางแปลงตัวอย่างแบบสุ่มเจาะจง ขนาด 0.16 เฮกแตร์ (40 เมตร x 40 เมตร) จำนวน 45 แปลง กระจายในพื้นที่  30 สวนป่า โดยแบ่งแปลงตัวอย่างออกตามช่วงอายุที่ถูกทิ้งร้าง 2 ช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 16 - 20 ปี (แปลงปี 2525 - 2529) และอายุ 21 - 25 ปี (แปลงปี 2520 - 2524) และในพื้นที่ป่าธรรมชาติ วิเคราะห์ลักษณะโครงสร้างสังคมพืช                         และความสัมพันธ์ของชนิดไม้เด่นตามลักษณะปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ

ผลการศึกษา: พบไม้ต้นทั้งหมด 153 ชนิด 110 สกุล 41 วงศ์ ค่าดัชนีความหลากหลาย (Shannon index, H/) เท่ากับ 3.66 โดยป่าสักทิ้งร้างอายุ 16 – 20 ปี พบไม้ต้นทั้งหมด 105 ชนิด 83 สกุล 32 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากหลาย 3.52 ขณะที่    ป่าสักทิ้งร้างอายุ 21 - 25 ปี พบไม้ต้นทั้งหมด 101 ชนิด 79 สกุล 32 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากหลาย 3.39 โดยป่าสักทิ้งร้างทั้ง 2 ช่วงอายุ พบชนิดไม้ที่มีค่าดัชนีความสำคัญสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สัก (Tectona grandis) ประดู่ป่า (Pterocarpus macrocarpus) และแดง (Xylia xylocarpa) และป่าธรรมชาติ พบไม้ต้นทั้งหมด 106 ชนิด 73 สกุล 31 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากหลาย 3.55 มีชนิดไม้ที่มีค่าดัชนีความสำคัญสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สัก ประดู่ป่า และสาธร (Millettia leucantha) และพบว่าป่าสักทิ้งร้างทั้ง 2 ช่วงอายุ และป่าธรรมชาติ มีค่าดัชนีความคล้ายคลึงสูง (94.34 - 97.08 เปอร์เซ็นต์) อิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมด้านความสูงจากระดับน้ำทะเล (ELE) และความลาดชัน (SLO) มีผลกับการตั้งตัวของกลุ่มไม้เบิกนำ และปริมาณน้ำฝน (RAN) และอุณหภูมิ (TEM) มีผลต่อการตั้งตัวของกลุ่มไม้ถาวร

สรุป: สวนสักทิ้งร้างสามารถส่งเสริมการตั้งตัวของไม้ต้นได้ดีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงอายุที่ถูกทิ้งร้างและปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพ ดังนั้น หากพิจารณานำชนิดไม้เด่นที่ปรากฏในพื้นที่สวนสักทิ้งร้างมาใช้ในการฟื้นฟูป่าที่ถูกทิ้งร้างจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการทดแทนของสังคมพืชที่รวดเร็วขึ้น

คำสำคัญ: ป่าผสมผลัดใบ, การทดแทนตามธรรมชาติ, พรรณไม้สังคมถาวร, ความหลากหลาย, การจัดการป่าเศรษฐกิจ


Download full text (Thai pdf): 9 clicks